เมื่อวานได้ไปงาน Reminder Award 2007 ของรุ่นน้องมาค่ะ
ได้ไปเจออาจารย์หลายคนอีกครั้ง ทั้งคุยกันถ่ายรูปกันสนุกสนาน
ทำให้นึกถึงวันเก่าๆ ที่เคยเรียนเคยเล่น แม้ว่าวันเวลาเหล่านั้นจะผ่านพ้นไป แต่สิ่งที่ยังนำมาใช้ได้เสมอคือเนื้อหาที่อาจารย์สอนไว้
ถึงตอนเรียนจะไม่ได้คิดถึงเรื่องการนำไปใช้สักเท่าไร แต่เมื่อเรียนจบออกมาทำงานแล้วกลับนำสิ่งที่เราเคยเรียนมาใช้ได้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา วิธีการวิเคราะห์ หรือวิธีในการเขียนหนังสือ (เพราะตอนเรียนต้องเขียนการบ้านส่งครูเยอะมาก)
ครั้งที่เรียนวิชา เช็คสเปียร์ เรียนด้วยความสนุกสนาน เรียกได้ว่าการเรียนละครเป็นความบันเทิงชนิดหนึ่งได้เลย
ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งจะได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาในการเขียนงานส่งนิตยสาร Happening จริงๆ ในหัวข้อที่เกี่ยวกับ วิลเลียม เช็คสเปียร์
วันนี้เลยลงเอาไว้เพื่อนึกถึงอดีตของตัวเอง รวมถึงบอกต่อเรื่องราวของเขาเผื่อว่าใครจะยังไม่เคยได้รับรู้ความสามารถของนักประพันธ์อมตะคนนี้
...
เช็คสเปียร์ ผู้สร้างตัวละครอมตะ
วิลเลียม เช็คสเปียร์ เป็นนักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยพระนางเจ้าอลิซเบธที่ 1 แห่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบันทั่วโลกรู้จักเขาในฐานะนักประพันธ์คนสำคัญของโลก
เขาเกิดวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1564 ในครอบครัวฐานะปานกลาง ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 และแต่งงานเมื่ออายุ 18 ปี เมื่อย้ายเข้ามาอยู่เมืองลอนดอนจึงเริ่มอาชีพเป็นนักแสดงตัวประกอบในโรงละครแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเขียนบทละครจนผลงานของเขาเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน เช็คสเปียร์เสียชีวิตวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1616 อายุได้ 52 ปีเท่านั้น ในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ได้สร้างบทละครอมตะไว้อย่างน้อย 37 เรื่อง และบทกวีอีกมากกว่า 150 บท
บทละครของเขาล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะรู้สึกคุ้นหรือเหมือนเคยได้ยินชื่อละครของเขามาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะกล้าเข้าไปทำความรู้จักกับผลงานของเขาโดยตรง หลายคนแค่ได้ยินชื่อเช็คสเปียร์ก็หนาวแล้ว ไม่ต้องพูดถึงบทละครภาษาอังกฤษที่แต่งเป็นกวีล้วนๆ (ซึ่งต่อให้แปลเป็นภาษาไทยก็ไม่คิดอ่าน) ได้เห็นความหนาของหนังสือพาลจะทำให้เป็นลม (ตามประสาคนรักการอ่านบ้านเรา) ดังนั้นถึงยังไม่เคยสัมผัสกับบทละครของเขาก็คงคิดไปต่างๆ นานาว่า ภาษาโบราณน่ากลัว บทกวีน่าเบื่อ หรือไม่ก็ปล่อยให้วรรณกรรมอมตะเป็นหน้าที่ของพวกคงแก่เรียนใช้ศึกษากันเท่านั้น
หารู้ไม่ว่าบทละครของเขาก้าวล้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าที่ทุกคนต้องผ่านหูมานานแล้ว หากนึกดูดีๆ จะรู้ว่าผลงานของเช็คสเปียร์ไม่ได้ห่างไกลจากการรับรู้ของเราเลย ทุกคนต้องเคยได้ยินเรื่องรักรันทดของโรมิโอและจูเลียต หรือ โศกนาฏกรรมของเจ้าชายแฮมเล็ตผู้โดดเดี่ยวมาบ้าง ละครของเช็คสเปียร์ไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงของผู้ที่สนใจวรรณกรรมเท่านั้น หากแต่แพร่หลายอยู่ในหนังหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนังที่สร้างตามบทประพันธ์ดั้งเดิมหรือหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทละครของเช็คสเปียร์
หนังที่นำบทละครมาสร้างมีมากมายหลายเวอร์ชั่น คนที่ได้ดู Romeo and Juliet (1996) เวอร์ชั่นที่ Leonado Di Caprio แสดงกับ Claire Danes คงจำกันได้ว่าหนังเรื่องนี้สนุกแค่ไหน เพราะผู้กำกับ Baz Luhrman นำความรักที่ก่ออยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของ 2 ตระกูลออกมาถ่ายทอดได้ร่วมสมัยถูกใจวัยรุ่น ในขณะที่ยังคงบทสนทนาที่เป็นบทกวีไว้เพื่อแสดงความเคารพต่อบทละครของเช็คสเปียร์ได้อย่างซาบซึ้งตรึงใจ ถ้าได้สังเกตดีๆ จะเห็นชื่อของสถานที่และสิ่งของต่างๆ ในเรื่องยังใช้ชื่อเดียวกับคน สถานที่ และสิ่งของในบทละคร แม้แต่ปืนที่ Romeo ใช้ในเรื่องยังมีคำว่า Sword ซึ่งหมายถึงดาบที่ตัวละครใช้ในบทดั้งเดิมสลักอยู่
ยังมีหนังที่นำพล็อตมาจากเรื่องนี้มาสร้างจนโด่งดังเช่นกันคือ West Side Story (1961) ที่ Natalie Wood แสดงกับ Richard Beymer แต่ปรับจากความขัดแย้งของตระกูล Capulet และ Montagueเป็นความขัดแย้งระหว่าง Puerto Rican และ White Gangs ในนิวยอร์คซิตี้แทน หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังเพลงสุดคลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งที่คอหนังรู้จักกันดี
หนังเรื่อง O (2001) นำแสดงโดย Mekhi Phifer(Odin James), Josh Hartnett(Hugo Goulding), Andrew Keegan(Michael Cassio) และ Julia Stiles(Desi Brable) นำพล็อตมาจาก Othello มาทำให้เป็นเรื่องของวัยรุ่นนักบาสเก็ตบอลดาวรุ่งที่ถูกเพื่อนอิจฉาจนอนาคตถูกทำลายลงเพราะความหึงหวงในที่สุด
ปี 2000 มีการสร้างหนัง Hamlet เวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้ฉากหลังเป็นมหานครนิวยอร์ค Ethan Hawke รับบท Hamlet ในเรื่องพ่อของเขาถูกอาแท้ๆ ของตัวเองฆาตกรรม Julia Stile รับบท Ophelia หญิงผู้เจ็บปวดเพราะความรักที่มีต่อ Hamlet จนต้องฆ่าตัวตายในที่สุด บทละครเดิม Hamlet นำละครที่เลียนแบบเหตุการณ์เหมือนกับที่อาฆ่าพ่อของเขามาแสดงให้คนดูเพื่อจับพิรุธของอา ส่วนในหนังเรื่องนี้ Hamlet ทำหนังสั้นมาฉายให้อาและแม่ของเขาดูเป็นการดัดแปลงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ส่วนชะตากรรมของตัวละครในเรื่องส่วนใหญ่ยังคงไว้เช่นเดิม
The Banquet (2006) ที่จางซิยี่เล่นก็มีพล็อตมาจากเรื่อง Hamlet เช่นกัน แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นหนังจีนที่ตั้งชื่อตัวละครใหม่หมด แต่ในเนื้อเรื่องนั้นยังคงเดิม สิ่งที่หนังเรื่องนี้คงไว้คือวิธีการฆ่าจักรพรรดิองค์เก่าซึ่งเป็นพ่อของเจ้าชายอวู๋หลวนโดยการเป่ายาพิษเข้าไปในหูเหมือนพ่อของ Hamlet มีการเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่องให้เฉลี่ยไปทางตัวละครฮองเฮาหวั่นที่จางซิยี่เล่นไปจากเจ้าชายอวู๋หลวน (Hamlet) ที่แดเนี่ยล วูเล่นบ้าง รวมถึงปรับความสัมพันธ์ของตัวละครต่างๆ ให้ได้อารมณ์หนังตะวันออกยิ่งขึ้น จะเสียดายก็แต่เพียงตัวละครที่มีความสลับซับซ้อนอย่าง Hamlet ต้องถูกตัดทอนไป และแม้จะพยายามใส่ความซับซ้อนให้กับจางซิยี่แล้วก็ยังถือว่ามีน้ำหนักน้อยไปกว่าบทประพันธ์ดั้งเดิมนัก
เปลี่ยนมาพูดถึงหนังที่สร้างมาจากสุขนาฏกรรมบ้าง หนังวัยรุ่นเรื่อง 10 Things I Hate about You (1999) ที่แสดงโดย Julia Stiles และ Heather Ledge ก็นำพล็อตมาจากบทละครเรื่อง The Taming of the Shrew (แต่งประมาณปี 1593-1594) ซึ่งถ้าดูเผินๆ อาจจะคิดว่าเป็นหนังรักวัยรุ่นทั่วไปเท่านั้น
ล่าสุดหนังเรื่อง She’s the Man (2006) แสดงนำโดย Amanda Bynes(Viola), Chunning Tatum(Duke), Laura Ramsey(Olivia) และ James Kirk(Sabastian) ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทละครเรื่อง Twelfth Night (แต่งประมาณปี 1599-1600) ซึ่งแม้จุดเริ่มจะไม่เหมือนกับต้นฉบับที่ตัวนางเอกรอดชีวิตจากเรืออัปปางมาถึงชายฝั่งเมือง Illyria แต่ฉากเปิดของเรื่องเธอเล่นฟุตบอลอยู่บนชายหาดซึ่งมีสัญลักษณ์ห่วงยางช่วยชีวิตปรากฏอยู่ด้วย ส่วนโรงเรียนที่ Viola ไปสวมรอยแทนฝาแฝดมีชื่อว่า Illyria เหมือนกับชายฝั่งที่ปรากฏในเรื่อง Twelfth Night ที่ Viola รอดชีวิตจากเรืออัปปางไปอยู่ที่เมืองนั้น ส่วนชื่อร้านอาหาร Cesario ที่เหล่าวัยรุ่นไปรวมตัวกันในเรื่องนั้นเป็นชื่อเดียวกับนามแฝงที่ Viola ใช้ในการปลอมตัวเป็นผู้ชายในบทดั้งเดิม
ส่วนหนังเรื่อง Shakespeare in Love (1998) ที่ Ralph Fiennes(Shakespeare) และ Gwyneth Paltrow(Viola) แสดงนำนั้นเชื่อว่าใครหลายคนคงนึกสงสัยว่าเป็นชีวิตจริงของเช็คสเปียร์หรือเปล่า บอกได้เลยว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้สร้างมาจากชีวิตจริงของเช็คสเปียร์แต่ได้นำส่วนประกอบในชีวิตของเขามาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้
คนเขียนบทได้รับแรงบันดาลใจจากบทละครหลายเรื่องของเช็คสเปียร์ จึงพยายามตั้งสมมติฐานถึงที่มาของบทละครเรื่อง Romeo and Juliet ว่าเช็คสเปียร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้หญิงสูงศักดิ์คนหนึ่งที่ชื่อ Viola (ซึ่ง Viola คือชื่อของตัวเอกในละครเรื่อง Twelfth Night นั่นเอง) คนเขียนบทนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบกันได้อย่างลงตัว จนคนดูหนังเรื่องนี้อาจเชื่อได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง รวมถึงยังมีการนำคนที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์เช่น Christopher Marlowe นักเขียนบทละครชื่อดังในสมัยนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินเรื่องอีกด้วย แสดงโดย Rupert Everett ในเรื่องเขาเป็นเพื่อนนักเขียนบทละครของ Shakespeare ที่ให้คำปรึกษาเรื่องชื่อละครที่เช็คสเปียร์กำลังแต่งอยู่จนได้เป็นชื่อ Romeo and Juliet ในที่สุด
วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์สิ้นลมไป 391 ปีแล้ว แต่ตัวละครของเขายังไม่ได้ตายจากไปพร้อมกับผู้ประพันธ์ คนหลายเชื้อชาติยังคงหยิบบทละครเวทีของเขามาสร้างให้คนได้ดูกันอยู่เรื่อยๆ บทละครถูกนำมาสร้างต่อและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเรื่องในเวลาต่อมา ตัวละครที่เขาสร้างมีอายุต่อมาอีกกว่า 400 ปี ยิ่งไปกว่านั้นมีแนวโน้มว่าจะคงมีลมหายใจยาวนานต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาของตัวละครไปบ้างแต่จิตวิญญาณของตัวละครที่เช็คสเปียร์สร้างยังคงประทับอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ถ้าอยากจะลองหากหนังที่ดัดแปลงมาจากบทละครของเช็คสเปียร์ลองหาเรื่องเหล่านี้มาดูได้
- Forbidden Planet (1956) ดัดแปลงจากเรื่อง The Tempest กำกับโดย Fred M. Wilcox
- Throne of Blood และ The Castle of the Spider’s Web (1957) ดัดแปลงจากเรื่องMacbeth กำกับโดย Akira Kurosawa
- Valley Girl (1983) ดัดแปลงจากเรื่อง Romeo and Juliet กำกับโดย Martha Coolidge
- Ran (1985) ดัดแปลงจากเรื่อง King Lear กำกับโดย Akira Kurosawa
...
อันที่จริงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเช็คสเปียร์ยังมีอีกมาก เพราะตอนที่ได้เรียนวิชาของภาคภาษาอังกฤษนั้นได้อ่านบทประพันธ์ของเขาและรับรู้ความอัจฉริยะในด้านการประพันธ์ของเขาอย่างลึกซึ้ง จำได้ว่าตอนเรียนนั้นนับเป็นความประทับใจที่สุดวิชาหนึ่งทีเดียว
หากมีโอกาสอาจจะได้หยิบยกมาเล่าให้ฟังบ้าง สักประโยค 2 ประโยคก็ยังดี
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
ที่คุณบอกว่าเรื่อง 10 things i hate about youนำพล็อตเรื่องมาจากThe Taming of the Shrewแล้วไม่ทราบว่าทั้งสองเรื่องนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ แล้วเนื้อเรื่องเดิมมันเป็นอย่างไรคะ
เรื่องนี้มีความเหมือนที่ plot ค่ะ
อย่างเช่นเรื่องเดิมครอบครัวนางเอกก็เป็นพี่น้อง 2 สาวเหมือนกัน
แต่เรื่องเก่าก็จะเกี่ยวกับน้องสาวคนเล็กมีผู้ชายมารัก อยากแต่งงานด้วย
แต่พ่อเป็นคนหวงลูกสาวมาก เลยประกาศว่าจะไม่ยอมให้ลูกสาวคนเล็กแต่งงาน ถ้าคนโตไม่แต่งก่อน
ตรงนี้เรื่อง 10 things จะเปลี่ยนเป็น
น้องสาวคนเล็กมีผู้ชายมาขอออกเดทด้วย แต่พ่อไม่ยอม ประกาศว่าถ้าพี่สาวคนโตไม่ไป คนเล็กก็ไม่ได้ไป
แล้วก็มีรายละเอียดอะไรอีกเยอะแยะค่ะ
ถ้าเป็นไปได้น่าจะลองศึกษาเพิ่มเติม plot ของแต่ละเรื่องไม่ยาวเท่าไร พออ่านได้ค่ะ
ถ้าให้อธิบายทั้งหมดตรงนี้ท่าจะแย่
แต่สิ่งที่ 10 things มีไว้ในบทเพื่อให้ความเคารพเช็คสเปียร์คือ ตัวนางเอกที่เป็นพี่สาวชอบบทกวีโบราณ และในชั้นเรียนมีการเรียนบทละครของเช็คสเปียร์ด้วย
เรื่องเช็คสเปียร์จริงๆ สนุกมากค่ะ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองอ่านต้นฉบับดู
ยากหน่อย แต่ไม่ลองไม่รู้
Post a Comment