Thursday, July 03, 2008

การแสดงของแสงบนเวที

เขียนลงในนิตยสาร Happening นานพอสมควร
แต่เป็นชิ้นหนึ่งที่ตั้งใจเขียนเพราะเราชอบเรียนวิชาออกแบบไฟ

มันเป็นการออกแบบที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ มุมมอง เพื่อแสดงให้เห็นอารมณ์ของเรื่อง

และที่สำคัญได้ออกแบบไฟครั้งแรกในละครกำกับของตัวเองด้วย

ความทรงจำของเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของบทความที่เขียนให้คนอื่นๆ อ่าน ดีใจจริงๆ


......................


การแสดงของแสงบนเวที

พระอาทิตย์กำลังตกดินฉายแสงสีส้มทั่วท้องฟ้า เด็กสาวผมยาวหน้าตาน่ารักกำลังนั่งอยู่ที่โต๊ะข้างหน้าต่าง บนโต๊ะมีอุปกรณ์เขียนจดหมาย ถ้าให้เดาจากใบหน้ายิ้มแย้มของเธอ เธอน่าจะกำลังเขียนถึงคนรักที่อยู่แสนไกล

พระอาทิตย์ตกแล้วท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีเข้ม เป็นเวลาที่บุรุษไปรษณีย์ผู้เป็นสามีของเด็กสาวกลับบ้าน เขาเมากลับมาเหมือนทุกวันในมือถือป้ายเลขที่บ้านเข้ามาด้วย เขาล้วงหาจดหมายที่ส่งมาถึงเด็กสาว เดินมาวางไว้ให้บนโต๊ะ ส่วนป้ายเลขที่บ้านเขาหาที่วางที่จะให้เด็กสาวเห็นชัดเจนที่สุดก่อนจะเดินไปที่เตียงล้มตัวลงนอน

เด็กสาวจ่าหน้าซองถึงผู้รับเสร็จแล้วกำลังเขียนที่อยู่ของผู้ส่ง แต่เธอนึกบ้านเลขที่ตัวเองไม่ออก เอ่ยถามบุรุษไปรษณีย์ว่า “พี่บ้านเราเลขที่เท่าไรนะ”

...

คำบรรยายข้างต้นคือภาพที่ปรากฏในฉากแรกของละครเวทีเรื่อง บุรุษไปรษณีย์ผู้หลงลืมเลขที่บ้านของตน ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของคุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ในหนังสือ ชีวิตสำมะหาอันใด เรื่องนี้เป็นละครเวทีเรื่องแรกที่ฉันได้เขียนบทและกำกับการแสดงสมัยเรียนปี 4 เพื่อเป็นการสอบปฏิบัติวิชากำกับการแสดง

สิ่งที่กำลังเขียนถึงต่อไปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับละครเรื่องนี้สักเท่าไรค่ะ เพียงแต่อยากยกขึ้นมาให้ผู้อ่านได้ลองนึกภาพตามสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีเท่านั้น

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้คนดูเห็นภาพคือ แสง ถ้าสังเกตการบรรยายภาพจะเห็นได้ว่าแสงค่อยๆ เผยให้เห็นบรรยากาศ ฉาก ตัวละคร ต่อจากนั้นยังทำหน้าที่เคียงข้างนักแสดงไปจนจบเรื่อง

ในการออกแบบแสงในละครเวทีนั้นต้องคำนึงถึงการมองเห็นเป็นหลักค่ะ การจัดแสงเป็นการเลียนแบบมาจากแสงธรรมชาติที่อาบอยู่บนตัวเราทุกวี่วัน เพียงแต่แสงบนเวทีนั้นต้องสอดคล้องกับฉาก เลือกพื้นที่ในการมองเห็นบนเวทีเพื่อให้ความสำคัญต่อสารที่จะส่งไปยังคนดูอย่างครบถ้วนถูกต้อง รวมถึงเพิ่มและลดแสงในการมองเห็นอย่างเป็นธรรมชาติไม่ให้เป็นที่สังเกตมากเกินไปจนคนดูต้องหันมาจับผิดกันแทนที่จะสนใจละคร ดังนั้นแสงจึงเป็นได้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของละครเวทีได้ หากไม่นำมาใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม
แสงที่ช่วยในการมองเห็นเป็นสื่อในการรับและส่งสารค่ะ ดังนั้นในบทละครจะมีการระบุรายละเอียดของแสงไว้ด้วยว่าแสงจะเผยภาพแบบไหนให้คนดูได้เห็นกัน จะละเอียดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคนเขียนบทละครเรื่องนั้นๆ สุดท้ายแล้วการออกแบบแสงต้องผ่านการตีความจากบทละครเพื่อทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

แสงมีหลายหน้าที่ หน้าที่แรกคือเพื่อการมองเห็นอย่างที่เล่าให้ฟังไปแล้ว นอกจากนั้นแสงยังบ่งบอกสภาวะอารมณ์และเวลา ให้ความรู้สึกหรือบรรยากาศ รวมถึงให้ความรู้สึกถึงพื้นที่กว้าง หรือแคบได้อีกด้วย
ในย่อหน้าแรกเราจะเห็นว่าแสงสีส้มและแสงสีฟ้าช่วยบ่งบอกเวลาโดยไม่ต้องพึ่งบทสนทนาของตัวละคร แล้วแสงที่ไม่ใส่เจลสีจะทำหน้าที่ให้การมองเห็น ดังนั้นไม่เพียงนักแสดงที่ทำหน้าที่แสดงเท่านั้นแสงยังมีส่วนในการแสดงเช่นเดียวกัน

การออกแบบแสงมีความละเอียดอ่อน เพราะแสงเป็นเครื่องมือที่ส่งผลต่อการมองเห็นของคนดูโดยตรง นอกจากจะต้องคิดว่าต้องใช้ไฟกี่ดวง มุมของไฟ การกระจายตัวของแสงและความเข้มของแสงจะเป็นอย่างไร สีที่จะช่วยในการสื่อความหมายและอารมณ์ตามบทมีสีอะไรบ้างแล้ว ยังต้องคำนึงถึงพื้นที่ ฉาก ของประกอบฉาก ความสูงของนักแสดง เงาที่จะเกิดบนเวที และความเคลื่อนไหวของแสงที่จะใช้ในแต่ละช่วง
ถึงจะฟังดูยากแต่ไม่ยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้นะคะ เพราะหากเราทำความเข้าใจกับธรรมชาติของแสง เราจะสามารถนำคุณสมบัติของมันมาใช้ในการออกแบบได้

ในชีวิตประจำวันเราคลุกคลีอยู่กับแสงแดดและแสงนานาชนิด ไฟในบ้านแต่ละประเภทให้แสงที่แตกต่างกันอย่างไร แสงสร้างเงาแบบไหนได้บ้าง ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้นักออกแบบนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น สมัยนี้คนที่ชอบพกกล้องถ่ายรูปคงพอรู้ว่าแสงแบบไหนถึงจะทำให้รูปออกมาดูสวย
ยิ่งคนที่เรียนศิลปะจะรู้ว่าแสงเงาสำคัญต่อการวาดภาพและลงสีแค่ไหน นักออกแบบแสงต้องศึกษาธรรมชาติของแสงเช่นเดียวกับคนเรียนศิลปะค่ะ เพราะการวางตำแหน่งไฟแต่ละดวงสร้างความแตกต่างให้กับภาพบนเวทีเหมือนกับการลงเงาในภาพวาดที่ให้ผลทางความรู้สึกต่างกัน

ความคิดสร้างสรรค์ทำให้ความเป็นไปได้ในการจัดแสงบนเวทีนั้นมีมากมายเหลือเกินค่ะ สิ่งที่เล่ามาเป็นพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับแสงที่ใช้ในละครเวทีที่ยังไม่ลงลึกไปถึงอุปกรณ์ที่ให้ผลต่างกันในการใช้งาน
ปัจจุบันเทคโนโลยีทันสมัยทำให้การออกแบบแสงมีความสมจริงและมีเทคนิคใหม่ๆ น่าสนใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ อีกด้วย เพราะนอกจากจะมีการเลียนแบบแสงธรรมชาติแล้วยังมีการนำสไลด์ เลเซอร์ เครื่องฉาย เข้ามาเป็นสื่อผสมในการนำเสนอด้วย

แต่ถ้าหากถามว่าการออกแบบแสงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยไหน คงต้องย้อนไปถึงสมัยที่มีการสร้างโรงละครเป็นครั้งแรก ในสมัยกรีก โรงละคร Dionysus ที่เอเธน เป็นโรงละครแบบเปิดโล่ง หันไปทางทิศตะวันออก การแสดงละครนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกันในแต่ละวัน เพราะโรงละครในยุคแรกต้องอาศัยแสงธรรมชาติจึงคำนึงถึงช่วงเวลาที่แสงอาทิตย์ตกกระทบในการแสดง

ในศตวรรษต่อมาการออกแบบไฟในละครเวทีมีการใช้ทั้งแสงธรรมชาติและวัสดุที่มนุษย์สามารถทำขึ้นเอง เช่น เทียน น้ำมัน คบไฟ ตะเกียง ยุคที่มีการใช้ตะเกียง น้ำมันก๊าด ส่งผลให้เกิดกลิ่นเหม็นและมีจำนวนโรงละครมากมายเกิดไฟไหม้ แต่การออกแบบแสงนั้นค่อยๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

วิวัฒนาการการออกแบบแสงบนละครเวทีเดินไปพร้อมๆ กับการค้นพบสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เมื่อมีการค้นพบหลอดไฟ การออกแบบแสงยุคสมัยใหม่จึงเริ่มต้นขึ้น การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนาไฟขนาดเล็กที่สามารถนำไปติดตั้งตามตำแหน่งต่างๆ บนเวที

คงพอวาดภาพออกว่าการออกแบบแสงบนเวทีพัฒนาต่อเนื่องมาอย่างไรนะคะ ความตื่นเต้นที่มีต่อการออกแบบแสงบนเวทีดำเนินไปพร้อมกับการคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมไฟ หลักเบื้องต้นในการออกแบบแสงบนเวทีหลายอย่างมีส่วนในการคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ๆ ขึ้น จนกระทั่งการออกแบบแสงไม่ได้หยุดอยู่แค่วงการละครเวทีเท่านั้น มันก่อเป็นความรู้สมัยใหม่ของการออกแบบแสงภาพถ่าย หนัง ละครทีวี และการแสดงคอนเสิร์ตในปัจจุบัน

เพียงแต่การทำงานออกแบบแสงในภาพถ่าย หนัง และละครทีวี จะแตกต่างจากการออกแบบแสงบนเวทีเพราะต้องทำงานควบคู่ไปกับการทำงานของตากล้องที่ทำหน้าที่แทนสายตาคนดูอีกที

มีอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับแสงค่ะ เพราะแสงสามารถเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ทำให้คนดูตีความและวิเคราะห์อารมณ์และสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวละครได้เหมือนกัน แต่สัญลักษณ์เหล่านี้ไม่ได้มีแค่บนเวทีหรือในหนังที่เราดูเท่านั้นนะคะ มันใกล้ตัวเรามากค่ะ มากเสียจนบางครั้งไม่ได้สังเกต ลองมองแสงที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราสิคะ แล้วจะพบว่าธรรมชาติสร้างบรรยากาศในชีวิตให้เราไม่ซ้ำทุกวันเหมือนกัน

...

ท้องฟ้าเป็นสีแดงอมส้ม เผยให้เห็นตู้ไปรษณีย์สีแดงที่ตั้งอยู่ ริ้วรอยบนพื้นผิวบ่งบอกว่ามันยืนอยู่ตรงนี้เนิ่นนานแล้ว หญิงตาบอดเจ้าของดวงตาเศร้าสร้อยค่อยๆ เดินมาส่งจดหมายเหมือนทุกวัน เธอบรรจงหย่อนจดหมายส่งไปในตู้ไปรษณีย์ ไม่มีคำพูดสักคำ เธอมองตู้ไปรษณีย์อีกครั้งก่อนเดินจากไป

...

หน้ากาก


เด็กๆ จำไม่ได้เหมือนกันว่าเคยใส่หน้ากากตัวอะไรบ้าง

กระต่าย

แมว

ลิง

สิงโต

หรือ

ตัวการ์ตูนอื่นๆ

แต่เวลาใส่เราจะสามารถสวมบทบาทของตัวนั้นๆ ได้อย่างสนุกสนาน

สนุกเพราะเรารู้ว่าเรากำลังใส่หน้าของอะไรอยู่

กระต่ายจะกระโดดโลดเต้นใช่ไหม

แมวร้องเหมียวๆ

ลิงเกานู้นเกานี่

สิงโตคำรามน่าเกรงขาม แม้ว่าเราจะตัวเล็กเท่าแมวเหมียว

สนุกใช่ไหม

วันเวลาเหล่านั้นผ่านไปไม่รู้นานเท่าใด

เราไม่สามารถเอาหน้ากากใดมาใส่ให้ดูตลกได้อีก

ไม่รู้กลัวอะไร


รู้ตัวอีกทีเราไม่หยิบมันมาใส่เล่นอีกแล้ว

ไม่รู้กลัวอะไร

หรือว่าเพราะเรามีหน้ากากอื่นมาสวมใส่

หน้ากากซึ่งไม่ต้องหาหน้าตาของตัวอะไรมาวาดไว้

เพียงแค่ใจของเราเท่านั้นที่สร้างมันขึ้นมาปกปิดใบหน้าของตัวเอง

หลบซ่อนความรู้สึกของเราจากสายตาผู้คน

ปกป้องเราจากความเป็นจริงที่น่าอัปยศซึ่งเราอาจคิดไปเองว่ามันเป็นเช่นนั้น

หรือ

ปกป้องเราจากความน่าอายที่ผู้คนสามารถมองเห็นจากการกระทำที่มาจากตัวตนของเรา
แม้แต่เวลานอนเรายังรู้สึกต้องแบกรับความตึงเครียดของหน้ากากที่กดทับอยู่


น่าเศร้าเหลือเกิน
ไม่รู้ว่าหน้ากากไหนที่น่าเศร้ากว่ากัน
ระหว่างหน้ากากที่เราไม่สามารถหยิบมาใส่เล่น
กับ
หน้ากากที่เราห่อหุ้มใบหน้าของตัวเราตลอดเวลา
เมื่อไรที่เราจะสามารถถอดมันออกเพื่อเปิดเผยหน้าที่แท้จริงของตัวเองได้
เมื่อไรที่เราจะสามารถปลดปล่อยตัวเองจากหน้ากากที่หนาจนหนักเกินกว่าจะแบกรับได้